กระรอกก็เหมือนสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ เมื่อถึงช่วงเป็นสัดก็จะมีพฤติกรรมและอาการที่แตกต่างไปจากปกติ การเลี้ยงดูและดูแลกระรอกอย่างใกล้ชิดก็จะพบอาการผิดปกติ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากระรอกเป็นสัดและการดูแลกระรอกในช่วงนี้ควรทำอย่างไร gurusquirrel.com มีคำตอบมาให้ครับ
การเจริญพันธุ์ของกระรอก
กระรอกที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติ จะเริ่มเป็นสัดตั้งแต่อายุ 4 เดือน ถึง 2 ปี แต่ก็จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ลักษณะการผสมพันธุ์ของกระรอกจะเป็นแบบ promiscuous หรือ polygynandrous คือตัวผู้หรือตัวเมียหลายๆ ตัวผสมกับเพศตรงข้าม 1 ตัว
พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของกระรอกตามธรรมชาติ ในวันที่ตัวผู้เป็นสัด ตัวผู้หลายตัวจะมารวมกันล้อมรอบตัวเมียและเริ่มส่งเสียงร้อง การส่งเสียงร้องนี้เป็นการเริ่มต้นแข่งขันกันในหมู่ตัวผู้ ซึ่งจะมีตัวผู้ตัวหนึ่งที่ชนะและได้ผสมพันธุ์กับตัวเมียตัวนั้น ตัวผู้ตัวที่ชนะจะจับคู่อยู่กับกระรอกตัวเมียสักระยะจนแน่ใจว่าไข่ของตัวเมียนั้นได้รับการผสม
ส่วนกระรอกตัวเมียหลังจากผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะออกสำรวจหาบริเวณและสร้างรังในบริเวณที่เหมาะสมและค่อนข้างปลอดภัย ระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 20-40 วัน จำนวนลูกไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่แม่กระรอกจะคลอดลูกครั้งละประมาณ 1-2 ตัว
การดูแลกระรอกเลี้ยงในช่วงเป็นสัด
ส่วนใหญ่การเลี้ยงกระรอกมักจะเลี้ยงตัวเดียว เพราะการนำมาเลี้ยงเป็นคู่ก็ไม่แน่ว่าจะผสมพันธุ์กันเอง อาจกัดกันหรือทำร้ายกันได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้วช่วงจับคู่ผสมพันธุ์กระรอกต้องการความเป็นส่วนตัวสูง เมื่อนำกระรอกมาเลี้ยงเราจะรู้ได้อย่างไรว่ากระรอกเป็นสัด
กระรอกที่นำมาเลี้ยงจะเริ่มเป็นสัดในช่วงอายุ 4-5 เดือน แต่ก็อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ โดยทั่วไปตัวเมียจะดุมากกว่าตัวผู้ กระรอกทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วงเป็นสัดจะขี้หงุดหงิด และดุร้ายกว่าช่วงปกติ อาจกัดคนที่ไม่คุ้นเคยหรือกัดเด็กๆที่มาแหย่ คนเลี้ยงต้องดูแลและปล่อยให้กระรอกอยู่ตามลำพัง ซึ่งอาการติดสัดจะเป็นอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะกลับมาเป็นปกติ
การดูแลสัตว์เลี้ยงทุกชนิด หากเราหมั่นสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเป็นสัดหรือเมื่อมีอาการเจ็บป่วย และมีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้นเราก็จะทราบได้ทันที ดังนั้น จึงต้องเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของเราด้วยความรักและเอาใจใส่ เพราะไม่มีตำราเล่มใดให้ความรู้ได้ดีเท่ากับประสบการณ์ของเราเอง